วันจันทร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2555

กฟผ. ระบายน้ำในเขื่อนวชิราลงกรณเพิ่ม

กฟผ. ระบายน้ำในเขื่อนวชิราลงกรณเพิ่ม
กรุงเทพฯ  20  ส.ค.-นายกิตติ  ตันเจริญ  ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  (กฟผ.)  เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำของ กฟผ. เมื่อวันที่  16 สิงหาคมที่ผ่านมา  เวลา 24.00 น.  ว่า มีปริมาตรน้ำในอ่างฯ กฟผ. ทั้งหมด 37,769 ล้านลูกบาศก์เมตร  คิดเป็นร้อยละ 61 ของความจุน้อยกว่าปีที่แล้วร้อยละ 17  หรือ   -7,105 ล้าน ลบ.ม.  โดยอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ในภาคเหนือซึ่งเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และเป็นอ่างเก็บน้ำหลักในการป้องกันและบรรเทาอุทกภัย รวมทั้งภัยแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา นั้น ในปีนี้มีปริมาณน้ำในอ่างฯ น้อยกว่าปีที่แล้วมากถึงร้อยละ 38 หรือ -6,851 ล้าน ลบ.ม. อ่างเก็บน้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มีปริมาณน้ำในอ่างฯ น้อยกว่าปีที่แล้วค่อนข้างมากเช่นเดียวกัน มีเพียงอ่างเก็บน้ำในภาคตะวันตกที่มีปริมาณน้ำในอ่างฯ มากกว่าปีที่แล้ว  เนื่องจากปีนี้ฝนตกทางภาคตะวันตกค่อนข้างมาก

นายกิตติ  กล่าวว่า  ในระยะนี้เขื่อนที่ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด  คือ  เขื่อนวชิราลงกรณในภาคตะวันตก เนื่องจากมีฝนตกหนักต่อเนื่องในจังหวัดกาญจนบุรี และตาก ตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม เป็นต้นมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนวชิราลงกรณในปริมาณมาก โดยตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม-ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนรวม 2,375 ล้าน ลบ.ม. หรือเฉลี่ยวันละ 103 ล้าน ลบ.ม. จนถึงปัจจุบันยังคงมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนวันละ 100 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ปริมาณในอ่างฯ จากก่อนหน้านี้มีเพียงร้อยละ 55  ของความจุ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 75 ของความจุ ทั้งนี้  เขื่อนวชิราลงกรณได้เพิ่มการระบายน้ำในปริมาณที่ไม่กระทบต่อสภาพน้ำด้านท้ายตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2555 เป็นต้นมา ปัจจุบันระบายน้ำประมาณวันละ 40 ล้าน ลบ.ม. ตามมติคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ และคณะอนุกรรมการติดตาม วิเคราะห์สถานการณ์น้ำและจัดสรรน้ำ  โดยจะปรับลดตามความสามารถที่ท้ายน้ำสามารถรับได้   ซึ่ง กฟผ. และกรมชลประทานจะมีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด ปัจจุบันเขื่อนวชิราลงกรณเหลือช่องว่างรองรับน้ำได้อีก 2,175 ล้าน ลบ.ม.  จึงต้องติดตามเพื่อปรับแผนการรระบายน้ำให้ใกล้ชิดกว่าเขื่อนอื่น

สำหรับอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์ ได้วางแผนพร่องน้ำเพื่อเตรียมการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยมาตั้งแต่ต้นปี ทำให้มีช่องว่างสามารถรับน้ำได้อย่างปลอดภัย ปัจจุบัน เขื่อนภูมิพล มีปริมาตรน้ำ 6,349 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุ น้อยกว่าปีที่แล้วร้อยละ 35 หรือ -3,363 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้งานได้ 2,549 ล้าน ลบ.ม. มีช่องว่างรองรับน้ำได้อีก  7,113 ล้าน ลบ.ม. โดยในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (10-16 ส.ค.) มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 167 ล้าน ลบ.ม. หรือเฉลี่ยวันละ 24 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำตามแผนการใช้น้ำรวม 58 ล้าน ลบ.ม. หรือเฉลี่ยวันละ 8 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าในกรณีน้ำเฉลี่ยเขื่อนภูมิพลจะมีปริมาตรน้ำเก็บกักเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน (31ต.ค. 55)  ร้อยละ 69  ของความจุ และหากสถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝนอยู่ในเกณฑ์น้ำมากเขื่อนภูมิพลสามารถเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 77 ของความจุ ซึ่งจะมีน้ำต้นทุนสำหรับการใช้น้ำในปีหน้ามากขึ้น

เขื่อนสิริกิติ์  มีปริมาตรน้ำ 4,877 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 51 น้อยกว่าปีที่แล้วร้อยละ 42 หรือ -3,488 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำใช้งานได้ 2,027 ล้าน ลบ.ม. มีช่องว่างรองรับน้ำได้อีก 4,633 ล้าน ลบ.ม. ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อน 446 ล้าน ลบ.ม. หรือเฉลี่ยวันละ 64 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าสัปดาห์ก่อน ๆ ระบายน้ำตามแผนการใช้น้ำรวม 105 ล้าน ลบ.ม. หรือเฉลี่ยวันละ 15 ล้าน ลบ.ม. คาดว่าในกรณีน้ำเฉลี่ยเขื่อนสิริกิติ์จะมีปริมาตรน้ำเก็บกักเมื่อสิ้นสุดฤดูฝน (31 ต.ค. 55) ร้อยละ 74  ของความจุ และหากสถานการณ์น้ำช่วงฤดูฝนอยู่ในเกณฑ์น้ำมากเขื่อนสิริกิติ์สามารถเก็บกักน้ำเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 83 ของความจุ

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ปริมาณฝนในภาคเหนือว่าหากไม่มีพายุพัดผ่านจะมีปริมาณฝนใกล้เคียงค่าเฉลี่ยหรือมากกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย ดังนั้น  โอกาสที่เขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์จะมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากเหมือนปีที่แล้วคงไม่มี หรือหากมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนในเกณฑ์มาก ช่องว่างในเขื่อนทั้ง  2  ที่มีรวมกันกว่า 11,000 ล้าน ลบ.ม. จะสามารถเก็บกักน้ำ  เพื่อบรรเทาสภาพท้ายน้ำได้เป็นอย่างดี

ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ  เขื่อนวชิราลงกรณ หากแนวโน้มปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนมากอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ระดับน้ำในอ่างฯ สูงเกินระดับน้ำควบคุมตัวบน หรือ Upper Rule Curve ปัจจุบันจึงได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำตามความเหมาะสมที่ท้ายน้ำสามารถรับน้ำได้  จึงขอประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มต่ำ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากการระบายน้ำให้เตรียมการขนย้ายสิ่งของที่ขวางทางน้ำขึ้นที่สูงให้พ้นน้ำต่อไป  ซึ่งคาดว่าสภาพฝนตกหนักคงจะคลี่คลายลงประมาณปลายเดือนกันยายน 2555 ทั้งนี้ กฟผ. และกรมชลประทานจะติดตาม และประสานงานกันอย่างใกล้ชิด  เพื่อให้การระบายน้ำไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพท้ายน้ำ .-สำนักข่าวไทย
 


ที่มา : สำนักข่าวไทยMCOT

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น